ยีนบำบัดรักษามะเร็ง

การปฏิวัติการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็ง

      เมื่อปี ค.ศ. 2006  มีความยิ่งใหญ่ที่สุดของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการดูแลรักษาโรคของมนุษย์ไปตลอดกาล  นั่นคือความสำเร็จของโครงการศึกษาเรื่องการถอดรหัสดีเอ็นเอของมนุษย์  ทำให้สามารถทราบถึงรหัสดีเอ็นเอของยีนทุกยีนของมนุษยชาติโรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของยีนในเซลล์และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งที่เป็นมหันตภัยเงียบที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกมากมายนั้น  มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีนที่อยู่ภายในเซลล์มะเร็ง

      ผลจากกการรู้จักยีนทุกยีนในร่างกายมนุษย์  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญพื้นฐานของการเกิดโรคต่างๆในมนุษย์  ทำให้เกิดการปฏิวัติทางการแพทย์เข้าสู่ยุคของการแพทย์โมเลกุล  (Molecular  Medicine)  ซึ่งจะทำให้การป้องกันและรักษาโรคต่างๆ มีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงลดน้อยลง  นอกจากนี้ยังเปลี่ยนโฉมการวินิจฉัยโรคต่างๆ  โดยสามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค  และเกิดการผลิตยาที่ออกฤทธิ์ตรงตามเป้าหมายและกลไกการเกิดโรค  สามารถทำนายผลข้างเคียงต่อยาได้อย่างแม่นยำ

      การวินิจฉัยโรคมะเร็งระดับโมเลกุล  (Molecular  Diagnosis  Cancer)  ทำให้การวินิจฉัยโรคมะเร็งมีความไวสูง  เช่น
– การตรวจทางโมเลกุลด้วยเทคนิคพีซีอาร์  (ย่อมาจาก  Polymerase  Chain  Reaction)  สามารถตรวจเซลล์มะเร็งหนึ่งเซลล์ที่ปะปนในเซลล์ปกติหนึ่งล้านได้
– การพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจยีนจำนวนหลายพันยีน  โดยอาศัยแผ่นตรวจขนาดเท่าซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า  ไมโครอาเรย์  (Microarray)  สามารถตรวจค้นยีนผิดปกติจำนวนมากในการตรวจเพียงครั้งเดียวได้  โดยปรากฏผลบวกของการตรวจเป็นจุดเล็กๆ เท่าอณู  ซึ่งต้องวิเคราะห์ต่อด้วยคอมพิวเตอร์
– สามารถประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในคนปกติได้เรียกว่า  การคัดกรองมะเร็งระดับโมเลกุล  (Molecular  Screening)  
      ในปัจจุบันนี้เราสามารถตรวจแบ่งแยกโรคมะเร็งตามลักษณะของยีนที่ผิดปกติเรียกว่า  การแบ่งแยกชนิดของโรคมะเร็งระดับโมเลกุล  (Molecular  Classification) ทำให้สามารถตรวจค้นวินิจฉัยและรู้จักโรคมะเร็งอย่างลึกซึ้งอย่างที่ไม่เคยทราบมาก่อนในอดีต  และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งระดับโมเลกุลทำได้แล้วในบ้านเรา


ยีนบำบัด  (Gene  Therapy)  

      เป็นการนำยีนภายนอกใส่เข้าไปในเซลล์ที่ขาดยีนนั้นหรือยีนผิดปกติที่ก่อให้เกิดโรค  เช่น มะเร็งบางชนิดมียีนต้านมะเร็งชื่อพี 53  ผิดปกติ  การใส่ยีนพี 53  ปกติฉีดเข้าไปในเซลล์มะเร็งของศีรษะและคอสามารถทำให้ก้อนมะเร็งฝ่อลงได้  ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจนำยีนบำบัดโรคใส่ในเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งได้  เช่น  นำเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็งเรียกว่า  Natural  Killer Cell  หรือ  NK  Cell  โดยแยกจากเลือดของผู้ป่วย  นำมาเลี้ยงกระตุ้นให้แข็งแรงเพิ่มปริมาณมากขึ้นและฉีดกลับเข้าไปในตัวผู้ป่วยมะเร็งเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย  สามารถใส่ยีนที่สร้างภูมิคุ้มกันเข้าไปในเซลล์ดังกล่าว  เพื่อเสริมฤทธิ์การทำลายเซลล์มะเร็ง  ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำได้ในประเทศไทยแล้วในขณะนี้

ที่มา:http://www.feidathai.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=164

 

นักวิทย์ฯ เผยค้นพบยีนที่เกี่ยวกับการผลิตสเปิร์ม

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันทางการแพทย์ Howard Hughes พบว่าหากยีน Jhdma2a ผิดปกติจะทำให้เป็นหมันครับจากการศึกษาพบว่าหนูที่ขาดยีนนี้จะเป็นหมัน และผลิตสเปิร์มที่ผิดปกติออกมาน้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสมบูรณ์พันธุ์จากอังกฤษกล่าวว่าการศึกษานี้อาจช่วยให้เข้าใจว่าเหตุใดชายบางคนจึงไม่สามารถมีบุตรได้ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้ชายจำนวนมากเป็นหมันนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ผู้ชายที่ไม่สามารถมีบุตรได้บางพวกมีสเปิร์มรูปร่างผิดปกติ หรือมีสเปิร์มน้อยกว่าปกติ นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มก็เชื่อว่ายีนน่าจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกตินี้
ทีมจาก Howard Hughes เชื่อว่ายีนที่ว่านี้มีความสำคัญกับกระบวนการ “spermiogenesis” ซึ่งทำให้ดีเอ็นเอที่หัวสเปิร์มอัดกันแน่นเข้าจนพร้อมที่จะเจาะเข้าไปในเปลือกชั้นนอกของเซลล์ไข่เพื่อกำเนิดเป็นเอ็มบริโ อเพื่อทดสอบว่ายีน Jhdma2a มีผลกับการผลิตสเปิร์มหรือไม่พวกเค้าได้ทำการเพาะพันธุ์หนูที่ปราศจากยีนนี้ครับ ผลปรากฏว่าหนูเหล่านี้มีอัณฑะเล็กผิดปกติ จำนวนสเปิร์มที่นับได้ต่ำ และไม่สามารถมีลูกได้ครับ นอกจากนั้นสเปิร์มน้อยนิดที่ได้จากหนูเหล่านี้มีหัวและหางที่ผิดปกติทำให้สเปิร์มเคลื่อนไหวไม่ได้ครับ จากการส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ดูสเปิร์มที่ถูกย้อมสีนั้นพบว่าดีเอ็นเอที่หัวสเปิร์มไม่มีการรวมตัวอัดแน่นเหมือนสเปิร์มทั่วไป ดร. Yi Zhang ผู้นำทีมวิจัยกล่าวว่า ความผิดปกติจากยีนนี้อาจทำให้เป็นหมันได้ เนื่องจากยีนนี้มีผลต่อพัฒนาการของสเปิร์ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาผู้ที่เป็นหมันโดยไม่ส่งผลต่ออวัยวะใด ๆ ในร่างกาย อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการพิสูจน์ออกมาแล้วว่ายีนนี้มีความสำคัญในหนู แต่สำหรับมนุษย์อาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จึงทำการตรวจสอบดีเอ็นเอของชายที่เป็นหมันว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง  ดร. Allan Pacey อาจารย์ประจำวิชาฮอร์โมนสืบพันธุ์จากมหาวิทยาลัย Sheffield และเลขานุการ British Fertility Society กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยเข้าใจการทำงานของยีนนี้สักเท่าไรนักเนื่องจากกระบวนการที่จะทำให้ดีเอ็นเออัดแน่นในหัวสเปิร์มค่อนข้างจะเป็นเรื่องจำเพาะเจาะจง อย่างไรก็ตามน่าจะมีการทดลองในคนเพื่อจะได้เข้าใจว่าเหตุใดบางคนจึงเป็นหมัน

ที่มา: